สมเด็จพระพุฒาจารย์โต
พรหมรังสี วัดระฆังโฆษิตาราม
ปัจจุบันพระสมเด็จวัดระฆัง
ถือเป็นสุดยอดพระเครื่องที่พุทธศาสนิกชนใฝ่หาต้องการมีไว้ครอบครองเป็นเจ้าของ
เรียกว่าอยากได้มากถึงมากที่สุด ต้องยกให้พระสมเด็จในเครือของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต
พรหมรังสี) อันได้แก่ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดบางขุนพรหม และวัดเกศไชโย
เป็นอันดับหนึ่งในห้าพระเบญจภาคี
จัดว่าเป็นสุดยอดพระเครื่องของเมืองไทยที่เป็นที่นิยมมาของวงการพระเครื่องและและครองความนิยม
และสุดยอดปรารถนาของเหล่านักเลงพระ ซึ่งเป็นสุดยอดพระของแต่ละยุคสมัย
และเป็นสุดยอดของพุทธคุณ
ผู้ใดได้ครอบครองเป็นเจ้าของก็เชื่อได้ว่าคนผู้นั้นเปี่ยมด้วยวาสนา บารมี
พระราชประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
พรหมรังสี
สมเด็จพระพุฒาจารย์โต
พรหมรังสีท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันขึ้น ๑๒ ค่ำ
เดือน ๕ ปีวอก ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๓๑ เวลา ๑๖.๓๕ นาฬิกา
ท่านเป็นบุตรนอกเศวตรฉัตรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
รัชกาลที่๒ แห่งราชวงศ์จักรี กล่าวคือในสมัยรัชกาลที่๑ นั้น
ได้เกิดศึกขึ้นทางภาคเหนือของไทย โดยกองทัพเวียงจันทน์จะยกมาตีเมืองโคราช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ )
จึงทรงมีรับสั่งให้รัชกาลที่๒ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้า
ไปปราบศึกที่ยกมา รัชกาลที่๒ ซึ่งขณะนั้นเพิ่งมีพระชนมายุได้ ๑๗ พรรษาเท่านั้น
ก็ได้ยกทัพไปทางเรือ
ครั้นไปถึงจังหวัดกำแพงเพชรก็ได้มีชาวบ้านจัดสินค้าต่างๆมาขายแก่พวกทหารในกองทัพ
ในจำนวนแม่ค้าพายเรือมาขายของนั้น
ได้มีมารดาของท่านซึ่งเป็นสาวงามชาวกำแพงเพชรด้วยผู้หนึ่ง(
ท่านเล่าว่ามารดาของท่านชื่อ แม่งุด ) มารดาของท่านพายเรือขายผลกระท้อนแก่พวกทหาร
ด้วยบุพเพสันนิวาส
พวกนายทหารเห็นเป็นบุญว่ามารดาของท่านเป็นคนสวยจึงชักพาให้ได้กับเจ้าฟ้าแม่ทัพ และได้อยู่ร่วมกันคืนหนึ่ง
ก่อนที่จะจากไปท่านแม่ทัพบิดาของท่านได้ประทานรัดประคดอันหนึ่งแก่มารดาของท่านไว้
เพื่อมอบให้บุตรที่จะเกิดขึ้นต่อไป
ทั้งรับสั่งไว้ด้วยว่าถ้ามารดาของท่านคลอดบุตรเป็นชายให้ตั้งชื่อว่า “โต” ถ้าคลอดบุตรเป็นหญิง
ให้ตั้งชื่อว่า “เกตุแก้ว”หลังจากนั้นก็เดินทัพต่อไป
ต่อมามารดาของท่านก็ได้ตั้งครรภ์ท่าน
ระหว่างตั้งครรภ์มารดาของท่านได้ล่องเรือลงมาสืบหาสามีถึงบางกอก
จึงได้ทราบว่าสามีเป็นเจ้าฟ้าผู้สูงศักดิ์
จะเป็นกษัตริย์สืบต่อไปก็เกิดความเจียมตัวจึงไม่แสดงตัว
และได้คลอดท่านที่บ้านญาติที่บางกอกน้อยนั้นเอง ตั้งชื่อว่า “โต” ตามที่บิดาท่านสั่งไว้
ตอนเล็กๆนั้นท่านเป็นเด็กที่เรียกว่า“ตัวกระเปี๊ยกเลี๊ยก” เพราะกินอยู่ไม่สมบูรณ์
ต่อมาตาและมารดาของท่านได้ไปค้าขาย ( ท่านว่าไปขายของจับฉลาก )
อยู่ที่จังหวัดพิจิตร แล้วต่อมาก็ได้อพยพไปอยู่ที่อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง
เมื่อท่านอายุได้
๗ ขวบ ท่านอยากบวชจึงไปบอกแม่กับตา
แม่กับตาก็ให้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดสำนักสงฆ์ใหญ่ (
ซึ่งต่อมาจึงได้สร้างเป็นวัดเกตุไชโย ) หลังจากทรงบรรพชาแล้ว
ก็เริ่มปฏิบัติธรรมทั้งทางด้านปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ
ศึกษาค้นคว้าแตกฉานเร็วมากด้วยเหตุแห่งการสั่งสมบารมีมามากเป็นอเนกอนันตชาติ
และทรงทราบว่าพระองค์มาจุติหรืออุบัติขึ้นเพื่อเจริญพระศาสนา
จึงเร่งศึกษาพระไตรปิฎกอย่างแตกฉานแยกแยะความถูกต้องและผิดพลาดจากการบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก
เร่งฝึกวิปัสสนาพระกรรมฐานความรู้แจ้งเห็นจริงก็ปรากฏขึ้นในดวงจิตที่มุ่งมั่นสะอาดและบริสุทธิ์
ทรงมีพระปัญญาคมกล้าเป็นยอดเยี่ยม จึงสามารถบรรลุมรรคผลอย่างรวดเร็ว
โดยการเริ่มเทศน์จากพระคัมภีร์ใบลาน
จนกระทั่งเทศน์ด้วยปากเปล่าและในรูปแบบของปุจฉา-วิสัชนา
เป็นที่ยอมรับของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ที่ได้ฟังพระสุรเสียงเป็นที่ไพเราะจับใจ
ความชัดเจนของอักขระการเอื้อนทำนองวรรคตอนได้ถูกต้อง ภาษาสละสลวย
เนื้อหาสาระที่เทศน์ ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ หรือพระเจ้า ๑๐ ชาติ
ก็สามารถเทศน์ให้ญาติโยมได้รับฟังอย่างจับจิตจับใจและฟังอย่างมีความสุข
และจดจำเนื้อหาที่เทศน์ได้ และประกอบด้วยพระอัจฉริยภาพที่สง่างาม น่ารักของ “ สามเณรจิ๋ว ”
ท่านบวชแล้วก็เกิดไม่ยอมสึก
แม่ไม่ทราบจะทำอย่างไรก็ปล่อยให้บวชไปเรื่อยๆ พอผ่านไปสัก ๓ พรรษา
ตอนนั้นอายุได้สัก ๑๐ ขวบ ท่านก็ยังไม่ยอมสึกตามที่มารดาของท่านพยายามให้สึก
สมัยนั้นหน้าวัดที่ท่านบวชมีเรือสำเภาล่องมาจากทางเหนือคือทางปากน้ำโพผ่านมาจอดเสมอ
สามเณรโตคิดว่าขืนอยู่อ่างทองนี้ต้องสึกแน่เพราะมารดาและตาของท่านฝากความหวังไว้กับท่าน
ต้องการให้สึกจึงอ้อนวอนรบเร้าท่านเสมอ ท่านไม่อยากสึก
ท่านจึงได้สอบถามว่าเรือสำเภาลำไหนบ้างที่พรุ่งนี้เช้าล่องไปบางกอก
ก็ได้มีไต้ก๋ง(กัปตันเรือสำเภา) ชื่อแดงประจำเรือสำเภาลำหนึ่งบอกว่าเณรจะไปไหน
พรุ่งนี้เรือจะล่องไปบางกอกตอนตีห้าท่านก็บอกไต้ก๋งแดงว่า ท่านจะไปเที่ยวบางกอก
แล้วก็กลับไปเก็บข้าวของเตรียมเดินทาง คืนนั้นท่านนอนไม่หลับ
เพราะเกิดการต่อสู้ทางความคิดขึ้นในจิตใจท่านเป็นอย่างมาก ตากับแม่ฝากความหวังไว้ที่ท่าน
แต่ท่านนั้นดื่มด่ำในรสพระธรรมและจะทิ้งไปโดยไม่บอกให้ทราบ
ไม่ทราบอะไรเป็นสิ่งบันดาลให้สามเณรน้อยตัดสินใจ
รุ่งเช้าตีห้าท่านเก็บข้าวของลงเรือโดยไม่บอกทางบ้าน
และเรือนั้นก็มาเทียบที่ท่าวัดอินทร์สามเสน ท่านได้ไปอยู่กับเจ้าอาวาสวัดอินทร์
บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร ท่านเจ้าอาวาสวัดอินทร์เห็นท่านมีหน้าตาท่าทางฉลาด
จึงเอาท่านไปฝากที่วัดระฆัง
รุ่งขึ้นก่อนที่สามเณรจะถูกจับมาฝากวัดระฆังนั้น
คืนนั้นเจ้าอาวาสวัดระฆังได้ฝันว่า
มีช้างเผือกเชือกหนึ่งโผล่ขึ้นไปบนกุฏิท่านแล้วไชตู้พระไตรปิฎกรื้อลงมาหมด
แล้วเคี้ยวพระไตรปิฎกเข้าไปหมด เจ้าอาวาสตกใจตื่น
รุ่งเช้าจึงสั่งพระเลขานุการไว้ว่า ถ้าวันนี้มีใครเอาอะไรมาที่นี่
จงรับไว้ห้ามปฏิเสธเด็ดขาด
เจ้าอาวาสคอยเหตุการณ์จนสายก็พอดีมีอำแดงพรนิมนต์ไปฉันที่คลองบางกอกน้อย
ก็สั่งกำชับเลขานุการไว้อีก
ครั้นเจ้าอาวาสออกไปแล้วก็พอดีทางวัดอินทร์นำสามเณรน้อยคือท่านมาฝากที่วัดระฆัง
ทีแรกก็เกือบถูกไล่ออกจากกุฏิ เพราะเจ้าอาวาสสั่งว่ามีอะไรให้รับไว้นั้น
ไม่ได้บอกให้รับคน
คุยกันอยู่นั้นก็พอดีเจ้าอาวาสกลับมาได้เห็นสามเณรก็บอกว่าตรงกับความฝัน
จึงรับอุปการะและให้การศึกษา ศึกษาได้อยู่พักหนึ่ง ได้ถูกส่งให้มาอยู่วัดมหาธาตุ
ต่อมาทางวัดอินทร์ได้ขอตัวท่านไปอยู่ที่วัดอินทร์
โดยอ้างว่าเพราะสามเณรองค์นี้เทศน์เก่ง ขอให้ไปเทศน์ให้ญาติโยมที่วัดอินทร์ฟัง
ระหว่างอยู่ที่วัดอินทร์ท่านได้เล่าเรียนวิชาจนแตกฉาน
มีพระสังฆราชไก่เถื่อนเป็นอาจารย์ทรงมุ่งมั่นในการศึกษาพระธรรม
และฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ในขณะเดียวกัน ก็ได้สร้างผงวิเศษต่างๆ เช่น
สร้างดินสอพองขึ้นมาเพื่อเขียนกระดานชนวนลงเลขยันต์ ลบเก็บผงไว้เป็นผงวิเศษ
ได้ชื่อว่าผงอิทธิเจ ปถมัง ตรีนิสิงเห มหาราช พุทธคุณ ผงเหล่านี้
เรียกว่าเป็นผงวิเศษ หรือผงศักดิ์สิทธิ์ นอกจากจะสร้างผงขึ้นมาด้วยอำนาจจิต
จากความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา
ด้วยพระองค์เองและผงวิเศษที่ได้ถวายมาจากพระอาจารย์ก็ได้เก็บสะสมไว้
โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเอาไว้สร้างพระ
ต่อมาเสมียนตราด้วงซึ่งเป็นคนสนิทของเจ้าฟ้าในวังมาพบท่านเข้า
ถูกชาตาจึงจะพาไปเทศน์ที่วัดพระแก้ว ซึ่งเป็นวัดหลวงเทศน์ให้เจ้าฟ้าฟัง
พอสามเณรเข้าเฝ้านั้นก็นึกถึงแม่ ให้รัดประคดเอาไว้ว่า
อันนี้ลูกจะต้องเก็บให้ดีเป็นของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน
ในวันที่ที่จะเข้าเฝ้าเจ้าฟ้านั้น ท่านจึงได้เอารัดประคดนี้มาคาดแล้วเข้าไปเฝ้า
เจ้าฟ้าผู้เป็นบิดาทอดพระเนตรเห็นรัดประคดก็ทรงจำได้และรู้ว่าเป็นเชื้อพระวงศ์
ก็กราบทูลให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบความเป็นมา
และพาท่านเข้าเฝ้าถวายตัวต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดฝีปากการเทศน์
จึงทรงรับอุปถัมภ์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์
โดยพระราชทานเรือกันยาเป็นรางวัลแก่ท่านด้วยขณะนั้นท่านอายุได้ ๑๖ – ๑๗ ปี
และได้ย้ายไปอยู่วัดปรินิพพาน( วัดมหาธาตุ ) อาศัยอยู่กุฏิแดงน้อย
ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีหน้าที่เรียนหนังสืออย่างเดียว
ระหว่างเรียนหนังสือก็มีอาหารจากในวังส่งมาให้เป็นประจำ
โอกาสนี้ท่านได้สนิทสนมคลุกคลีกับเจ้าฟ้ารัชกาลที่ ๔ ด้วย
ต่อมาท่านเป็นมหาสามประโยค ได้กลับไปเยี่ยมแม่ด้วย
และหลังจากนั้นจึงได้ไปบวชเป็นพระที่จังหวัดพิจิตร ตอนที่ท่านเรียนหนังสือ
ท่านอ่านตำราแตกฉาน จนกระทั่งพระอาจารย์บอกว่า
นิมนต์มหาโตไปเรียนกับพระประธานในโบสถ์ ท่านก็ไปอ่านไปคุยกับพระประธานในโบสถ์
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ท่านกับรัชกาลที่ ๓ มีความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน
ท่านจึงหลีกหนีไปบำเพ็ญในป่า เช่นที่จังหวัดกำแพงเพชร ดงพญาเย็น จังหวัดขอนแก่น
วัดชนะชัยศรี วัดเกาะแก้วในอำเภออรัญประเทศ และเข้าไปในเขตประเทศเขมรเป็นต้น
ครั้นรัชกาลที่ ๔ ขึ้นครองราชย์ ก็ได้ทรงประกาศหาตัวท่าน
เพื่อจะให้ท่านมาช่วยด้านศาสนา ถ้าเห็นใครมีรูปร่างคล้ายท่าน
เจ้าหน้าที่ก็จะจับเพื่อส่งวังหลวง ท่านท่องอยู่ในป่า พอได้ทราบข่าวว่า รัชกาลที่
๔ ขึ้นครองราชย์แล้ว ท่านก็ได้ออกมาให้ตำรวจหลวงนำตัวท่านจากบ้านไผ่
จังหวัดขอนแก่นมาสู่บางกอก ขณะนั้นท่านอายุ ๔๐ ปี กลับมาอยู่วัดอินทร์ สมัยท่านอยู่วัดอินทร์
คราวหนึ่งท่านได้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งหันพระพักตร์เข้าข้างฝาในศาลา
ทั้งนี้เพื่อเป็นปริศนาธรรมว่า พระสงฆ์ควรหันหน้าเข้าข้างฝาเพื่อค้นสัจธรรม
แล้วค่อยหันหน้ามาสอนชาวบ้าน คือให้ถึงธรรมแล้วค่อยมาสอนธรรม
เป็นการสร้างขึ้นเพื่อกระทบเหล่าพระสงฆ์ในขณะนั้น
เพราะพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในขณะนั้นไม่บำเพ็ญในทางธรรม แล้วก็ชอบพูดธรรมอวดธรรมกัน
ในสมัยรัชกาลที่
๔ นั้น
สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังสีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้คำแนะนำรัชกาลที่
๔ ในเรื่องของการแก้ปัญหาบ้านเมืองในยุคที่มีอิทธิพลของต่างประเทศกำลังขยายตัวเพื่อล่าเมืองขึ้นในแถบเอเชีย
ท่านเป็นผู้ร่างกฎหมาย กฎมณเฑียรบาล ท่านวางระบบการปกครองแบบมีสภาเลขา
ซึ่งในการวางแผนต่างๆของท่านนั้น ท่านเล่าว่าท่านไม่เคยวางแผนเพียงแต้มเดียว
แต่แผนของท่านมีทั้งแผนบุก แผนถอย แผนหนี แผนวิ่ง แผนตีลังกา
ในการกู้แผ่นดินตอนที่พวกอังกฤษจะมายึดกรุงสยามในรัชกาลที่ ๔ นั้น
ท่านก็วางแผนให้ที่ดินบางส่วนแก่เขาไปเพื่อรักษาเอกราชไว้
สมเด็จพระพุฒาจารย์โต
พรหมรังสี เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง
เป็นที่ทรงคุ้นเคยมาทั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาโตเป็นผู้ไม่ปรารถนาลาภ ยศ สมณะศักดิ์ใดๆ
เมื่อเรียนรู้พระปริยัติมาแล้วก็ไม่เข้าแปลหนังสือเป็นเปรียญและไม่รับเป็นฐานานุกรม
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะ พระมหาโตได้ทูลขอตัวมิยอมรับตำแหน่ง หรือเลี่ยง
โดยออกธุดงค์ไปตามวัดในชนบทห่างไกลทุกคราวไป จึงคงเป็นพระมหาโตมาตลอด
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระมหาโตจึงยอมรับพระมหากรุณาในปีพุทธศักราช
2395
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งพระมหาโตเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิติ
เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ในปีขาล พุทธศักราช 2397 ได้เลื่อนสมณะศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพกวี
ศรีนายกตรีปิฎกปรีชามหาคณฤศร บวรสังฆราชคามวาสี ครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน)
วัดสระเกศ มรณภาพ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันพฤหัสบดี
เดือน 10 ขึ้น 9ค่ำ ปีชวด
ตรงกับวันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๐๗สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี
ได้สร้างวัดและสิ่งเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาจำนวนมาก เช่น หลวงพ่อโต
วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม พระโตนั่งกลางแจ้งวัดไชโย จังหวัดอ่างทอง พระเจดีย์นอน วัดลครทำ
ฯลฯ นอกจากศาสนวัตถุต่างๆ แล้ว สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ยังได้รจนาบทสวดพระคาถาหลายบท
แต่ที่เป็นที่รู้จักและถือว่าเป็นพระคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง
และนิยมสวดภาวนาในหมู่พุทธศานิกชน คือพระคาถาชินบัญชร
ด้วยความที่พระองค์ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่พระพุทธศาสนิกชนกล่าวขวัญถึง ในชื่อ “สมเด็จฯโตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม
และเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่มีความรอบรู้แตกฉานใน พระธรรมวินัย และธรรมปฏิบัติ
ความเป็นเลิศในการเทศนา ได้รับการยกย่องสรรเสริญในสติปัญญาและ
ปฏิญาณโวหารที่ฉลาดหลักแหลม เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาแก่ผู้ตกยากมีอัธยาศัยมักน้อยสันโดษท่านถือปฏิบัติในข้อธุดงควัตรทุกประการ
คือ ฉันในบาตร ถือผ้าสามผืนออกธุดงค์ เยี่ยมป่าช้า นั่งภาวนา เดินจงกรม
จนวาระสุดท้ายท่านมรณภาพเมื่อวันอาทิตย์ เวลา ๐๖.๐๐ น. ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗
ปีมะเมีย ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๙
มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๕ สิริพระชนมายุนับรวมได้ ๘๔ ปี กับ ๒ เดือนเศษ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี พระราชสมภพเพื่อพระพุทธศาสนาโดยแท้จริง
เพราะพระองค์ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ ๕ ชันษา
และทรงอุปสมบทเป็นพระเมื่อพระชนมายุ ๒๐ ชันษา ปฏิบัติศาสนกิจอย่างต่อเนื่องโดยตลอดพระชนม์ชีพ
ทรงมีผลงานทั้งเรื่องการให้พระธรรมคำสอนโดยการเทศนาโปรด ทั้งในระเทศและต่างประเทศ
ทรงสร้างวัตถุมงคลไว้เป็นจำนวนมากในพระอิริยาบทต่างๆ เช่น นั่ง ยืน เดิน และนอน
และทรงสร้างพระพุทธรูปขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ไว้เป็นจำนวนมาก
จนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ (พระชนมายุ ๘๕ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๔๑๕)
คำเทศนาของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์
(โต) พรหมรังสี ที่ได้โปรดชี้ธรรมไว้ในนิมิตหลังจากที่ท่านล่วงลับไปแล้ว เมื่อ 100 กว่าปี
อันเป็นปฐมเหตุที่ต้องสร้างความดี อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
“บุญเราไม่เคยสร้าง ...
ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า ”
“ลูกเอ๋ย
ก่อนจะเที่ยวไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด
เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเองคือบารมีของตนลงทุนไปก่อน
เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารีของคนอื่นมาช่วย
มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สิน
ในบุญบารมีที่เที่ยวไปขอยืมมาจนพ้นตัว...เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมา
ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมด
ไม่มีอะไรเหลือติดตัว...แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้าหมั่นสร้างบารมีไว้..แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง”
“เจ้าจงจำไว้นะ...เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้...ครั้นถึงเวลา...ทั่วฟ้าจบดิน
ก็ต้านเจ้าไม่อยู่...จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดินเมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลยจะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า…”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น