เหรียญหล่อเสมารุ่นแรก
ปี2522 หลวงปู่ดู่ วัดสะแก
เหรียญหล่อรูปเหมือนหลวงปู่ดู่พิมพ์เสมา
สร้างขึ้นในปี ๒๕๒๒ และได้รับเมตตาอธิษฐานจิตพร้อมลงเหล็กจารจากหลวงปู่ท่าน ลักษณะเหรียญเป็นรูปเสมามีหูในตัว
รอบขอบเหรียญเป็นลวดลายยกขอบสูง ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงปู่ดู่นั่งสมาธิบนอาสนะ
ใต้อาสนะมีตัวอักษร "๑พรหมฺปัญโญ"
ด้านหลังเหรียญมีรูปยันต์เฑาะว์ และยันต์นะตรงกลางเหรียญ มีอักขระต่าง ๆ
รอบขอบเหรียญ จำนวนสร้างรวม ๑,๑๐๘ เหรียญ โดยสร้างเป็นเหรียญหล่อเนื้อเงิน ๑๐๘
เหรียญ เหรียญหล่อโลหะผสม ๑,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญหล่อทุกเหรียญจะตอกโค้ดไว้ที่ด้านข้างเหรียญ
และหลวงปู่ดู่จะลงเหล็กจารอักขระด้านหลังเหรียญทุกเหรียญ
ประวัติ
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก จ.พระนครศรีอยุธยา
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
ท่านเกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
ปีมะโรง เป็นวันเพ็ญวิสาขปุรณมี ณ บ้านข้าวเม่า ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โยมบิดาชื่อ พุด โยมมารดาชื่อ พ่วง นามสกุล หนูศรี
มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน 3 คน ตัวท่านเป็นคนสุดท้อง
เมื่อหลวงพ่อถือกำเนิดได้ไม่นาน มารดาของท่านก็เสียชีวิต และเมื่อท่านอายุได้ 4 ปี
บิดาของหลวงพ่อก็เสียชีวิตอีก ทำให้หลวงพ่อกำพร้าตั้งแต่วัยเยาว์
ท่านจึงได้อาศัยอยู่กับยาย และ พี่สาวชื่อ สุ่ม เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่
เมื่อท่านถึงวัยที่ต้องศึกษา ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนที่ วัดกลางคลองสระบัว
วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศธรรมประวัติ ตามลำดับ
เมื่อตอนที่ท่านยังเป็นทารกมีเหตุอัศจรรย์ที่ทำให้เชื่อว่าท่านจะต้องเป็นผู้มีบุญวาสนามาเกิด
คือในช่วงหน้าน้ำหลาก คืนหนึ่งขณะที่บิดาและมารดากำลังทำขนมอยู่นั้น
มารดาท่านได้วางตัวท่านไว้บนเบาะนอกชานบ้าน
แต่ไม่ทราบด้วยเหตุใดตัวท่านได้กลิ้งตกลงไปน้ำ
แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ตัวท่านกลับไม่จมน้ำ กลับลอยน้ำไปติดอยู่ข้างรั้ว
กระทั่งสุนัขที่บ้านเลี้ยงไว้ มาเห็นเข้าจึงเห่าและวิ่งกลับไปกลับมา
มารดาท่านจึงสงลัยว่าคงจะมีเหตุการณ์ผิดปกติ จึงได้ตามสุนัขออกมาดู
ก็พบท่านลอยน้ำอยู่ติดกับข้างรั้ว
อุปสมบท
เมื่อท่านอายุได้ 21 ปี
ก็ได้บรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 ตรงกับวันอาทิตย์แรม 4 ค่ำ
เดือน 6 ณ อุโบสถวัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี
หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อแด่ เจ้าอาวาสวัดสะแก
เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับ
ฉายาว่า “ พรหมปัญโญ ”
ศึกษาธรรม
ในพรรษาแรกๆ นั้น หลวงปู่ดู่
ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัด ประดู่ทรงธรรม (ในสมัยนั้นเรียกว่าวัด
ประดู่โรงธรรม) โดยศึกษากับ ท่านเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม หลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นต้น
ในด้านการปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐาน นั้น
หลวงปู่ดู่ ได้ ศึกษา กับ หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม ผู้เป้นพระอุปัชฌาย์ และ
หลวงพ่อเภา ซึ่งเป็นศิษย์องค์สำคัญของหลวงพ่อกลั่น และ มีศักดิ์เป็นอาของท่าน
เมื่อท่านบวชได้พรรษาที่ 2 ประมาณปลายปี พ.ศ. 2469 หลวงพ่อกลั่นก็ได้มรณภาพ
ท่านจึงได้ศึกษากับหลวงพ่อเภาเป็นหลัก นอกจากนี้ยังได้ศึกษาจากตำราที่มีอยู่
จากชาดกบ้าง ธรรมบทบ้าง และด้วยความที่ท่านเป็นผู้รักการศึกษา
ท่านจึงได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจาก พระอาจารย์อีกหลายท่าน ที่
จังหวัดสุพรรณบุรี สระบุรี ฯลฯ เมื่อพ.ศ. 2486 ครั้นออกพรรษาแล้ว
หลวงพ่อก็ออกเดินธุดงค์ จากวัดสะแก มุ่งหน้า สู่ป่าเขาแถบจังหวัดกาญจนบุรี
ในระหว่างทาง ก็แวะนมัสการสถานที่สำคัญต่างๆ ทางพุทธศาสนา
ในคืนหนึ่ง ในช่วงก่อน ปี พ.ศ.2500
เล็กน้อย หลังจากที่ท่านสวดมนต์ทำวัตรเย็น และเข้าจำวัดแล้วนั้น
เกิดนิมิตไปว่าได้ฉันดาว ที่มีแสงสว่างมากเข้าไป 3 ดวง ขณะที่ฉันนั้นรู้สึกว่า
กรอบๆ ดี เมื่อฉันหมดก็ตกใจตื่น ท่านจึงได้พิจารณานิมิตที่เกิดขึ้น
ก็เกิดความเข้าใจในนิมิตนั้นว่า ดาวสามดวง ก็คือ ดวงแก้วไตรสรณาคมน์ นั้นเอง
ท่านจึงท่อง
“ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง
คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ” ก็เกิดปิติขึ้นในจิตท่านอย่างท่วมท้น
เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และมั่นใจว่า การยึดมั่นพระไตรสรณาคมน์ เป็นวิธี
ที่เข้าสู่แก่นแท้ เป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา ท่านจึงกำหนดเอา พระไตรสรณาคมน์
เป็นองค์บริกรรมภาวนา
เมตตาธรรม
หลวงปู่ดู่
ท่านให้การต้อนรับแขกอย่างเสมอเท่าเทียมกันหมด ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ
ท่านจะพูดห้ามปรามหากมีผู้เสนอตัวเสนอหน้าคอยจัดแจงเกี่ยวกับแขกที่มาหาท่าน
เพราะท่านทราบดีว่ามีผู้ใฝ่ธรรมจำนวนมากที่อุตสาห์เดินทางมาไกล
เพื่อนมัสการและซักถามข้อธรรมจากท่าน หากมาถึงแล้งยังไม่สามารถเข้าพบได้โดยสะดวก
ก็จะทำให้เสียกำลังใจ เป็นเมตตาธรรมอย่างสูงที่หลวงพ่อมีให้ศิษย์ทั้งหลาย
และหากมีผู้สนใจการปฏิบัติกรรมฐาน มาหาท่าน ท่านจะเมตตาสนทนาธรรมเป็นพิเศษอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย
หลวงปู่ทวด
ท่านให้ความเคารพในองค์หลวงปู่ทวด
วัดช้างไห้ เป็นอย่างมากทั้งกล่าวยกย่อง
ว่าหลวงปู่ทวดท่านเป็นผู้ที่มีบารมีธรรมเต็มเปี่ยม เป็นโพธิสัตว์จะได้มาตรัสรู้
ในอนาคต ให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ยึดมั่น และระลึกถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อติดขัดในระหว่างการปฏิบัติธรรม
หรือประสบปัญหาทางโลก ท่านว่า หลวงปู่ทวดท่านคอยที่จะช่วยเหลือทุกคนอยู่แล้ว
แต่ขอให้ทุกคนอย่าท้อถอย หรือละทิ้งการปฏิบัติ
การสร้างพระ
หลวงพ่อดู่
ท่านมิได้ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ การที่ท่านสร้าง หรืออนุญาตให้สร้างพระเครื่องหรือพระบูชา
ก็เพราะเห็นว่า บุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยงทางด้านจิตใจ เพราะศิษย์ หรือ
บุคคลนั้น มีทั้งที่ใจใฝ่ธรรมล้วนๆ กับ ยังต้องอิงกับวัตถุมงคล ท่านเคยพูดว่า “ติดวัตถุมงคลยังดีกว่า
ที่จะไปให้ติดวัตถุอัปมงคล” แม้ว่าหลวงปู่ดู่ท่านจะรับรองในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องที่ท่านอธิฐานจิตให้
แต่สิ่งที่ท่านยกไว้เหนือกว่านั้นก็คือการปฏิบัติ การภาวนา นี้แหละ
เป็นสุดยอดแห่งเครื่องรางของขลัง
บางคนมาหาท่านเพื่อต้องการของดีเช่นเครื่องรางของขลัง
ซึ่งมักจะได้รับคำตอบจากท่านว่า “ ของดีนั้นอยู่ที่ตัวเรา พุทธัง ธัมมัง สังฆัง
นี่แหละของดี ”
ปัจฉิมวาร
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2527
เป็นต้นมาสุขภาพหลวงพ่อเริ่มทรุดโทรม เนื่องการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
ด้วยเหตุจากการที่ต้องต้อนรับแขก และบรรดาศิษย์ทั่วทุกสารทิศ
ที่นับวันก็ยิ่งหลั่งไหลกันมานมัสการท่านมากขึ้นทุกวัน แม้บางครั้งจะมีโรคมาเบียดเบียนอย่างหนัก
ท่านก็อุตส่าห์ออกโปรดญาติโยมเป็นปกติ พระที่อุปัฏฐากท่าน เล่าว่า
บางครั้งถึงขนาดที่ท่านต้องพยุงตัวเองขึ้นด้วยอาการสั่น และมีน้ำตาคลอเบ้า
ท่านก็ไม่เคยปริปากให้ใครต้องเป็นกังวลเลย ภายหลังตรวจพบว่า หลวงพ่อ
เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว แม้ว่าทางคณะแพทย์ จะขอร้องท่านให้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
แต่ท่านก็ไม่ยอมไป
ประมาณปลายปี พ.ศ.2532
หลวงปู่ดู่พูดบ่อยครั้ง เกี่ยวกับ การที่ท่านจะละสังขาร ซึ่ง ในขณะนั้นหลวงปู่ดู่ ท่านได้ใช้หลักธรรม
ขันติ คือความอดทนอดกลั้นระงับ ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นจากโรคภัย
จิตของท่านยังทรงความเป็นปรกติสงบเย็น
จนทำให้คนที่แวดล้อมท่านไม่อาจสังเกตเห็นถึงปัญหาโรคภัยที่คุกคามท่านอย่างหนัก
วันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2533
ช่วงเวลาบ่ายนั้น มีนายทหารอากาศผู้หนึ่งมากราบท่านเป็นครั้งแรก
หลวงพ่อท่านได้ลุกขึ้นนั่งตอนรับ ด้วยใบหน้าที่สดใส ราศีเปล่งปลั่งเป็นพิเศษ
จนบรรดาศิษย์ เห็นผิดสังเกต หลวงพ่อยินดีที่ได้พบกับศิษย์ผู้นี้ ท่านว่า “ต่อไปนี้
ข้าจะได้หายเจ็บไข้เสียที ” คืนนั้นมีคณะศิษย์มากราบท่าน ท่านได้พูดว่า “ ไม่มีส่วนใดในร่างกายที่ไม่เจ็บปวดเลย
ถ้าเป็นคนอื่นคงเข้าห้อง ICU ไปนานแล้ว ” พร้อมทั้งพูดหนักแน่นว่า “ข้าจะไปแล้วนะ” และกล่าวปัจฉิมโอวาทย้ำให้ทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
“ถึงอย่างไรก็ขอให้อย่าได้ละทิ้งการปฏิบัติ
ได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติ ก็เหมือนนักมวย ขึ้นเวทีแล้วต้องชก อย่ามัวแต่ตั้งท่า
เงอะๆ งะๆ” หลังจากคืนนั้นหลวงพ่อก็กลับเข้ากุฏิ
และละสังขารไปด้วยอาการสงบด้วยโรคหัวใจ ในกุฏิท่านเมื่อเวลาประมาณ 5 นาฬิกา ของ
วันพุธที่ 17 มกราคมพ.ศ. 2533 รวมสิริอายุได้ 85 ปี 8 เดือน 65 พรรษา
ยังความเศร้าโศกและอาลัยแก่ ศิษยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง
อุปมาดั่งดวงประทีปที่เคยให้ความสว่าง ดับไป แต่เมตตาธรรมและคำสั่งสอนของท่านยังปรากฏ
อยู่ในดวงใจของ ศิษยานุศิษย์ตลอดไป
จึงขอยกธรรมคำสอนของหลวงพ่อที่สอนให้ศิษย์
เข้าถึงธรรมด้วยการสร้างคุณงามความดีให้เกิดขึ้นที่ตนเองดังนี้
“ตราบใดก็ตาม
ที่แกยังไม่เห็นความดีในตัวเอง
ก็ยังไม่นับว่า
แกรู้จักข้า
แต่ถ้าเมื่อใด
แกเริ่มเห็นความดีในตัวเองแล้ว
เมื่อนั้นข้าว่า
แกเริ่มรู้จักข้าดีขึ้นแล้วล่ะ”
ขอบคุณแหล่งที่มา อิทธิปาฏิหาริย์พระเครื่อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น