พิธีถอนขึด
“ขึด” ซึ่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ได้รวบรวมจากเอกสารโบราณล้านนา ประเภทใบลานและพับสา แล้วพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ
พ.ศ.2539 มีใจความว่า
ขึด แปลว่า
ไม่ดี อัปมงคล เสนียด จัญไร
หมายถึง
การกระทำหรือเหตุการณ์ใดๆ ที่เมื่อผู้ใดทำหรือเกิดขึ้นกับบุคคล
กับชุมชนสังคมใดแล้ว จะโดยเจตนา หรือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติก็ตาม จะนำความหายนะ
วิบัติ อัปมงคลมาสู่บุคคลหรือชุมชนนั้น ซึ่งจะต้องแก้ไขด้วยการทำพิธีถอนขึดตามจารีตประเพณี
หรือหากแก้ไขไม่ได้บุคคลที่ตกขึดก็ต้องรับผลกรรมแห่งการกระทำของตนไปตามระเบียบ
ขึดจึงเป็นเสมือนคำสอนของคนล้านนาโบราณที่ใช้อบรมสั่งสอนลูกหลาน
คนในครอบครัว คนในสังคม เพื่อให้ประพฤติปฏิบัติตาม ถ้าเป็นสิ่งที่ดี
แต่ถ้าไม่ดีก็ห้ามประพฤติปฏิบัติ ช่วยให้สังคมสงบสุข ร่มเย็น
และยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามได้อย่างยาวนาน
ซึ่งคำว่า “ถอนขึด” ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา
เกี่ยวกับพิธีสวดถอนนั้น
ชาวล้านนาเชื่อกันว่า เป็นการถอดถอนเอาสิ่งที่ไม่ดี ไม่เป็นมงคล
ที่เชื่อกันว่าฝังอยู่หรือติดอยู่ในที่ต่างๆ เช่น อยู่ในตัวคน
ในเครื่องมือเครื่องใช้ ที่อยู่ที่อาศัย หรือในผืนดิน
และวิธีที่จะทำนำเอาสิ่งที่ไม่ดีนั้นออกไป ให้พ้นคือการถอดถอน
แต่การถอดถอนสิ่งที่ไม่ดี
ไม่เป็นมงคล ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นนามธรรม มองไม่เห็นตัว จับต้องไม่ได้
จึงจำเป็นต้องถอดถอนด้วยเวทย์มนต์คาถา
หรือไหว้วอนขอให้ผู้ที่มีอำนาจเหนือสิ่งเหล่านั้นช่วยถอดถอนให้แทน
ดังนั้นจุดมุ่งหมายของการสวดถอนก็เพื่อขับไล่ความไม่ดี
หรือสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ที่ไม่เป็นมงคลออกไป
และเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลนั้นเอง
ขอบคุณที่มา http://www.tnews.co.th/contents/467281
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น