พระบรมธาตุนาดูน อ.นาดูน
จ.มหาสารคาม
เข้าพรรษาปีนี้ (วันที่28 กรกฎาคม พ.ศ.2561)
ได้มีโอกาสเดินทางไปกราบนมัสการพระบรมธาตุนาดูน จ.มหาสารคาม ซึ่งตรงกับงานทำพิธีเปลี่ยนผ้าห่มพระบรมธาตุนาดูนพอดี
พระบรมธาตุนาดูนมีความสำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมประเพณี ประชาชนชาวอำเภอนาดูนมีความเชื่อว่า
พระธาตุมีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีเทวดาอารักษ์สถิตอยู่
สามารถดลบันดาลให้ผู้ที่ศรัทธาซึ่งกระทำการสักการบูชาแคล้วคลาดปลอดภัย
เป็นสิริมงคลทั้งต่อตนเองและครอบครัว
จึงได้มีจัดพิธีกรรมการบูชาพระธาตุเป็นบุญประเพณีประจำปีโดยมีพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อ
มีทั้งพิธีพราหมณ์และพุทธจนเกิดเป็นวัฒนธรรม กลายเอกลักษณ์ของชาวนาดูนในปัจจุบัน
พระบรมธาตุนาดูน อ.นาดูน
จ.มหาสารคาม เป็นโบราณวัตถุมีอายุเก่าแก่มากที่สุดกว่า 1,300 ปี
เป็นวัตถุโบราณที่ประเมินค่าไม่ได้ ขุดพบเมื่อวันที่ 8
มิถุนายน 2522 บนที่นาของนายทองดี ปะวะภูตา ราษฎรบ้านนาดูน
ต.นาดูน อ.นาดูนจังหวัดมหาสารคาม ห่างจากที่ว่าการอำเภอนาดูน ประมาณ 2 ก.ม. ที่ดินตรงนั้นมีลักษณะเป็นเนินดินสูงจากระดับที่ทำนาประมาณ 1 เมตร
วันที่ 26 พ.ค.2522 หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น (ปัจจุบัน
สำนักศิลปากรที่ 9 จ.ขอนแก่น)
ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาคลุมพื้นที่และดำเนินการขุดค้นซากโบราณสถานแห่งนี้
ตามหลักวิชาการ
จากการขุดเจาะบริเวณตรงกลางเนินดิน
ปรากฏว่าพบโบราณวัตถุ ประกอบด้วย พระพิมพ์ดินเผา
พระกรุนาดูน พิมพ์ต่างๆ
ลักษณะสมบูรณ์จำนวน 887 ชิ้น และไม่สมบูรณ์แตกหักจำนวน 117 ถุง (18,257 ชิ้น) ยอดสถูปสำริด 1 ชิ้น แผ่นทองคำ 2 ชิ้น
และพบจารึกที่อยู่ด้านหลังพระพิมพ์ดินเผาบางชิ้น
สำคัญที่สุด คือ
พบสถูปสำริดทรงระฆัง ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 1 องค์
มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่นขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารหักครึ่ง
หล่อเลี้ยงด้วยน้ำมันจันทร์ เมื่อเปิดออกมีกลิ่นหอม
ส่วนที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นผอบซ้อน
3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 สำริด ชั้นที่ 2 เงิน และชั้นที่ 3 ทองคำ ทุกผอบมีฝาปิดมิดชิด ต่อมา จังหวัดมหาสารคาม สร้างพระบรมธาตุ
เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบไว้เป็นการถาวร
สร้างอยู่ห่างจากสถานที่ขุดพบประมาณ 2 ก.ม.
กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบโดยประยุกต์เอารูปทรงของสถูปสัมฤทธิ์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบกับลักษณะศิลปกรรมแบบทวารวดี
มาเป็นแบบในการสร้างพระบรมธาตุนาดูน
ต่อมาจึงได้สร้างองค์พระบรมธาตุนาดูน
ขึ้นในบริเวณที่ขุดพบสถูป องค์พระธาตุมีความสูง 50.50 เมตร
ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2530
เป็นปูชนียสถานที่สร้างขึ้นเพื่อสิริมงคลแก่ภูมิภาค
พื้นที่โดยรอบได้ถูกพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม
ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเรียกขานว่าเป็น “พุทธมณฑลอีสาน” รอบองค์พระบรมธาตุมีบริเวณกว้างขวาง
จัดแต่งเป็นสวนรุกขชาติ ปลูกต้นไม้ในพุทธประวัติ
นับเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาคู่บ้านคู่เมืองของชาวมหาสารคาม
รูปลักษณะพระบรมธาตุนาดูน
จำลองแบบจากสถูปสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฐานประยุกต์แบบศิลปทวาราวดี
ฐานกว้าง 35.70 * 35.70 เมตร มีความสูงจากฐานถึงยอด 50.50 เมตร
ฐานรากและโครงสร้างทั่วไปเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทั้งหมด
ผนังภายนอกพระธาตุส่วนใหญ่ทำด้วยหินล้างเบอร์ 4 บางแห่งฉาบปูนเรียบสีขาว
มีลวดลายลวดบัว เสาบัวต่าง ๆ จำลองแบบ พระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ
ที่ขุดพบมาประดิษฐานพระธาตุจำนวน 32 รูป และมีมารแบกปั้นเป็นแบบนูนสูงประดับที่ฐาน
จำนวน 40 ตัว ตัวองค์พระธาตุจะแบ่งออกเป็น 16 ชั้น
ลักษณะการก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ภายในโปร่ง จากฐานรากขึ้นไปชั้นที่
1 สูง 3.7 เมตร
ชั้นที่ 1
คือฐานรากมีจำนวนฐานทั้งหมด 105 ฐาน มีเสาขึ้นจากฐานทั้งหมด 144 ต้น
ส่วนฐานที่เป็นองค์พระธาตุมีลักษณะกลม มีเสาทั้งหมด 16 ต้น ชั้นที่ 1
มีพื้นทางเดินโดยรอบ และมีซุ้มประตูลายปูนปั้น 4 ประตูประจำทิศ
ผนังประดับด้วยกระเบื้องด่านเกวียนศิลปะของ ภาคอีสาน พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิก 6
เหลี่ยม ผนังทั่วไปทำด้วยหินล้าง
ชั้นที่ 2
สูงจากชั้นที่หนึ่ง 5.00 เมตร โครงสร้างมีเสาทั้งหมด 86 ต้น มีพื้นที่โดยรอบ
สำหรับก่อสร้างเจดีย์องค์เล็กประจำทิศเหนือ ทั้ง 4 และพระพุทธรูปประจำซุ้ม 4 องค์
ผนังประกอบด้วยปูนปั้นเป็นรูปเสามีบัวเหนือเสา พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิก 6
เหลี่ยม ผนังทั่วไป ทำด้วยหินล้างและประดับกระเบื้องด่านเกวียน
ชั้นที่ 3
สูงจากชั้นที่สอง 4.80 เมตร โครงสร้างมีเสาทั้งหมด 44 ต้น มีพื้นโดยรอบ
สำหรับก่อสร้างเจดีย์องค์เล็กประจำทิศเฉียง 4 องค์ เช่นเดียวกับชั้นที่ 2
พื้นปูด้วยกระเบื้อง เซรามิก 6 เหลี่ยม ผนังทั่วไปทำด้วยหินล้าง
ชั้นที่ 4
สูงจากชั้นที่สาม 1.60 เมตร ประกอบด้วยฐาน 8 เหลี่ยม เป็นชั้นเริ่มต้นของ
ตัวองค์พระธาตุ โครงสร้างประกอบด้วยเสาทั้งหมด 24 ต้น ผนังทั่วไปทำด้วยหินล้าง
ชั้นที่ 5 สูงจากชั้นที่สาม 1.00 เมตร ประกอบด้วยฐานบัวกลม โครงสร้างประกอบ
ด้วยเสาทั้งหมด 16 ต้น ผิวภายนอกทำด้วยหินล้าง
ชั้นที่ 5
ถึงชั้นที่ 10มีความสูง 11.00 เมตรเป็นตัวองค์ระฆังของพระธาตุโดยเฉพาะชั้นที่ 8
จะเป็นชั้นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โครงสร้างประกอบด้วยเสาทั้งหมด 16 ต้น
จนถึงชั้นที่ 9 ชั้นที่ 10 ลดเหลือเสา 9 ต้น
ลักษณะองค์ระฆังภายนอกทำด้วยหินล้างทั้งหมด เป็นชั้นบัลลังก์
ลักษณะโครงสร้างมีเสาทั้งหมด 5 ต้น ผนังทำด้วยหินล้าง
ชั้นที่ 11
ถึงชั้นที่ 14 มีความสูง 4.60 เมตร เป็นชั้นบัลลังก์ประกอบด้วยลักษณะทรงกลมมีลายปูนปั้นเป็นกลีบบัว
โครงสร้างประกอบด้วยเสา 5 ต้น ผนังทำด้วยหินล้างทั้งหมด
ชั้นที่14 ถึงชั้นที่ 16 มีความสูง
6.80 เมตร เป็นชั้นปล้องไฉน มีทั้งหมด 6 ปล้อง โครงสร้างประกอบด้วยเสาแกนต้นเดียว
ปล้องไฉนทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ผิวทำด้วยหินล้าง ชั้นที่ 16 ถึงยอดคือปลียอด
มีชั้นปลี ชั้นลูกแก้ว และะชั้นฉัตรยอด โครงสร้าง ประกอบด้วยเสาแกนต้นเดียว
ผนังผิวทำด้วย หินล้างโดยรอบ ส่วนฉัตรยอดบุด้วยโมเสกแก้วสีทอง
ต่อมา
คณะรัฐมนตรีมีมติให้เป็นพุทธมลฑลอีสาน เป็นศูนย์รวมใจพุทธศาสนิกชนชาวมหาสารคามและชาวอีสาน
ตลอดปีจะมีการจัดงานแสวงบุญปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและจัดงานนมัสการพระบรมธาตุนาดูน
รวมทั้งจัดพิธีบวงสรวงสถานที่ขุดพบพระบรมสารีริกธาตุทุกปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น