วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ย้อนรอยอดีต หลวงพ่อทอง วัดเขากบ จ.นครสวรรค์


ย้อนรอยอดีต หลวงพ่อทอง วัดเขากบ จ.นครสวรรค์
ย้อนรอยอดีต หลวงพ่อทอง วัดวรนาถบรรพต (วัดเขากบ) ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวนครสวรรค์ พระเถระผู้เฒ่าจากนครสวรรค์ หลวงพ่อทองวัดเขากบ ประวัติท่านไม่ค่อยมีใครรู้มากนักเนื่องจากท่าน เป็นพระค่อนข้างเก็บตัว ไม่ได้ออกเครื่องรางของขลัง ทำให้ไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก ท่านเป็นพระยุคเก่ารุ่นเดียวกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า แม้แต่หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ พระเกจิชื่อดังนครสวรรค์ ยังให้ความเคารพนับถือ
เรื่องราวที่เล่าขานนี้เป็นความจริงที่ปรากฏและเป็นตำนานแห่งความเข้มขลัง ของอดีตพระเกจิของแผ่นดินสยาม และปัจจุบันเชื่อว่าคงหาเกจิรูปใดเทียบเคียงบุญญาบารมี และอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ได้ยากยิ่ง
  ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2452 สมเด็จพระสังฆราช (เข) วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงมีพระดำริในการทดสอบพลังจิตและความเข้มขลังของพระเกจิทั่วสยามประเทศขึ้น ที่วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม นัยว่าเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะ "พระดี-เกจิดัง" ในสายวิปัสสนากัมมัฏฐานและเฟ้นหา สุดยอดพระเกจิ” (ตามประวัติน่าจะมีเพียงครั้งเดียว) โดยนิมนต์พระเถรจารย์และเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศมา ชุมนุมมากกว่า 100 รูป
          จัดได้ว่าเป็น "พิธีชุมนุมพระเกจิชื่อดังทั่วแดนสยาม" ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์  ในพิธีมีได้การทดสอบวิทยาคมและพลังจิตอย่างเข้มขลัง โดยคัดเลือกเกจิอาจารย์ครั้งละ 10 รูป ด้วยวิธีจับสลาก จากนั้นนำท่อนไม้ 1 ท่อน มาวางบนม้า 2 ตัว จากนั้นนำกบไสไม้วางบนท่อนไม้ โดย สมเด็จพระสังฆราช (เข) ทรงบอกกติกาว่า เกจิทุกรูปจะต้องใช้พลังจิตบังคับให้กบไสไม้วิ่งไสไม้ไป-กลับโดยกบห้ามหล่น ลงมาเด็ดขาด หากใครพลังจิตแก่กล้าจริงก็จะสามารถทำได้ หากใครพลังจิตยังไม่สุดยอดก็ต้องยอมล่าถอยไป ปรากฏว่าหลังการทดสอบผ่านไป 3 วัน 3 คืน เกจิส่วนใหญ่ใช้พลังจิตบังคับกบวิ่งไสไม้ได้ทั้งนั้น แต่บังคับวิ่งไปข้างหน้าได้ทางเดียว บังคับให้กบวิ่งกลับหลังไม่สำเร็จ

มีเพียงพระเกจิ 10รูปเท่านั้น  ที่สามารถบังคับกบไสไม้ได้ทั้งไปและกลับ ถือว่าเป็น 10 พระเกจิสุดยอดแห่งสยามประเทศอย่างแท้จริงและปัจจุบันคงหาเกจิรุ่นใหม่เทียบ ได้ยากยิ่ง โดยเกจิทั้ง 10 รูป ได้แก่
1. หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม
2. หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท
3. หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม จ.พระนครศรีอยุธยา
4. หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง จากกรุงเทพมหานครหรือเมืองบางกอก
5. หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร
6. หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จ.นครปฐม
7. หลวงพ่อทอง วัดคีรีนาถบรรพต (เขากบ) จ.นครสวรรค์
8. หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน (วัดบางเหี้ย) จ.สมุทรปราการ
9. หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี
10. หลวงพ่อจอน วัดดอนรวบ จ.ชุมพร




หลวงพ่อทอง วัดวรนาถบรรพต (เขากบ) จ.นครสวรรค์ อีก 1 ใน 10 สุดยอดพระเกจิคณาจารย์ พระเถระผู้เฒ่าที่เป็นที่เคารพศรัทธาอย่างยิ่งของชาวเมืองนครสวรรค์และใกล้เคียง ประวัติความเป็นมาของท่านนั้นไม่ค่อยมีผู้ใดทราบนัก
ท่านเป็นชาวทุ่งยั้ง จ.อุตรดิตถ์ รุ่นราวคราวเดียวกับหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน เป็นสหธรรมิกกับ หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน และ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงพ่อทองได้รับถวายที่ดินจากตากบและยายเขียด ต่อมาชาวบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างกุฏิเล็กๆ ก่อนสร้างอุโบสถและศาลาขึ้น เพื่อชาวบ้านได้ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา
ต่อมาเมื่อตากบและยายเขียดถึงแก่กรรม หลวงพ่อจึงกำหนดที่ดินทั้งหมดเป็นที่ดินของวัด และตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดเขากบตามชื่อเจ้าของที่ดิน หลังจากการฌาปนกิจสองตายายแล้ว ท่านได้ให้ช่างปั้นรูปจำลองตากบและยายเขียดไว้ที่หน้าอุโบสถ เพื่อเป็นที่ระลึก ปรากฏอยู่กระทั่งทุกวันนี้
หลวงพ่อทองมีความเพียรอย่างแรงกล้า ลงมือทำงานและบูรณะวัดเขากบด้วยตัวท่านเอง โดยใช้เวลาบูรณะพระเจดีย์ซึ่งยอดหักนานถึง 10 ปี และทำโบสถ์อยู่ 5 ปี ทั้งยังบูรณะวิหารพระนอน กำแพงวิหาร ร้านบาตร ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีผู้ร่ำลือถึงกิตติศัพท์ของท่านมากมาย อาทิ เรื่องท่านตกจากยอดเจดีย์แล้วไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่รอยแมวข่วน หรือการบิณฑบาตที่ใครๆ ก็ตามไม่ทัน เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความเข้มขลังในวิทยาอาคมหลายแขนงวิชา
หลวงพ่อทองพัฒนาวัดเขากบจนเจริญรุ่งเรือง และจำพรรษาอยู่ตลอดอายุขัยจนมรณภาพในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2484 สิริอายุเกือบ 80 ปี ยังความโศกเศร้ามาสู่ชาวนครสวรรค์และบรรดาลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ร่วมใจกันหล่อ รูปเหมือนเท่าองค์จริงของท่านไว้ในวิหาร ทุกวันนี้สาธุชนทั้งใกล้และไกลยังคงแวะเวียนมากราบสักการะขอพรอยู่เป็นประจำ
ด้วยความที่หลวงพ่อทองเป็นพระสมถะ รักสันโดษ เคร่งในวัตรปฏิบัติ จึงไม่ชอบสร้างวัตถุมงคล ไม่ชอบถ่ายรูป เท่าที่ทราบในสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่จะมีเพียง ลูกอมและการรดน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนักเป็นหลัก แม้แต่รูปถ่ายท่านก็ไม่ยอมให้ใครถ่าย มีคนมาแอบถ่ายก็ไม่ติด จนลูกศิษย์ต้องขอร้องเพื่อขอเก็บไว้เป็นที่ระลึกท่านจึงอนุญาต ซึ่งจะมีเพียงภาพเดียวและครั้งเดียวเท่านั้น คือ ภาพที่ท่านกำลังนั่งบนธรรมาสน์ กำลังถือใบลานเทศน์อยู่
ส่วนวัตถุมงคลที่ทันท่านน่าจะมีไม่กี่อย่างซึ่งล้วนหายากทั้งสิ้น โดยเฉพาะ เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกที่เรียกกันว่า เหรียญหลวงพ่อทอง รุ่นหลังเงา
เป็นเหรียญปั๊มเนื้อทองแดง รูปไข่เล็ก ห่วงเชื่อม ด้านหน้าและด้านหลังยกขอบเป็นเส้นลวดนูน 2 ชั้น ชั้นในมีขนาดเล็กมาก ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อทองครึ่งองค์ ห่มจีวร พาดสังฆาฏิ และรัดประคดอกแบบ ห่มเต็มมีอักษรภาษาไทยจารึกว่า หลวงพ่อ วัดกบส่วนด้านหลัง ตรงกลางประดิษฐานรูปพระเจดีย์องค์ใหญ่ วัดเขากบ กลางองค์เจดีย์เป็นยันต์ ตัวเฑาะว์ขัดสมาธิขึ้นยอดเป็น อุณาโลม
จุดสังเกตสำคัญคือ พื้นเหรียญด้านหลังจะมีรูปหลวงพ่อทองแกะเป็นลายเส้นบางๆ เห็นเป็นเงาจางๆ อันเป็นที่มาของชื่อรุ่นว่า หลังเงา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น