วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อจุ่น จิตตสํวโร วัดโพธิ์ตาล


เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อจุ่น จิตตสํวโร วัดโพธิ์ตาล
เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อจุ่น จิตตสํวโร (พระครูโพธิกิตติวิมล) วัดโพธิ์ตาล มีลักษณะเหรียญรูปไข่ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อจุ่น จิตตสํวโร ครึ่งองค์ ด้านล่างระบุว่า พระครูโพธิกิตติวิมล ด้านหลังลักษณะคล้ายยันต์ดวง จัดสร้างปี 2546 มีเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว แบ่งออกเป็น 2 บล็อกคือ บล็อกนิยม จำนวน 2,500 เหรียญ บล็อกผดจำนวน1,000 เหรียญ รวม 3,500 เหรียญ
   ประวัติหลวงพ่อจุ่น จิตตสํวโร วัดโพธิ์ตาล ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ
         
  หลวงพ่อจุ่นท่านมีนามเดิมว่า จุ่น ชนะสิทธิ์เกิดเมื่อวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2501 ณ.บ้านโคกล้อ ตำบลมะกอกหวาน อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี (ตอนหลังได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่ บ้านตะโกทอง ตำบลท่ากูบ อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ) เป็นบุตรของคุณพ่อสมบูรณ์ และคุณแม่ละม่อม ชนะสิทธิ์ มีพี่น้องร่วมกัน 5 คนคือ
                                1.หลวงพ่อจุ่น จิตตสํวโร
                                2.นางสง่า ชนะสิทธิ์ (สกุลเดิม)
                                3.นางจำปา ชนะสิทธิ์ (สกุลเดิม)
                                4.นางนงลักษณ์ ชนะสิทธิ์ (สกุลเดิม)
                                5.นางนิสา ชนะสิทธิ์ (สกุลเดิม)
       อุปสมบท
           เมื่อพ.ศ2522 ที่พัทธสีมาวัดโพธิ์ตาล โดยมีหลวงปู่โตซึ่งเป็นอาจารย์ และท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา "จิตตสํวโร" แปลว่าผู้มีจิตเป็นใหญ่
 วิทยาฐานะ
            การศึกษาทางธรรมท่านสอบได้ นักธรรมตรี โท เอก ตามลำดับ และสำหรับทางโลกแล้วท่านจบการศึกษาภาคบังคับถึงชั้น ป.7 แล้วเรียน ก.ศ.น.จนจบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 หลังจากนั้นได้ทำการศึกษาต่อจนจบชั้นปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารการจัดการเชิงพุทธ (พธ.บ.) เป็นรุ่นแรก ของวิทยาลัยสงฆ์ชัยภูมิ ซึ่งตอนนั้นใช้วัดชัยภูมิวนารามเป็นสถานที่เรียน
งานปกครองและสมณะศักดิ์
          พ.ศ.2541 เจ้าคณะตำบลบ้านตาล
          พ.ศ.2542 เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ตาล
          พ.ศ.2545 เป็นพระอุปัชฌาย์
          พ.ศ.2546 เป็นพระครูชั้นโท
           พ.ศ.2556 เป็นพระครูชั้นเอก




การศึกษาวิทยาคม  แบ่งเป็น 3 สายวิชาที่สำคัญคือ
            1.สายวัดโพธิ์ตาล  เรียนจากหลวงปู่โตซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ และอาจารย์ของท่าน โดยตั้งแต่บวชมาก็อยู่รับใช้ท่านมาเกือบตลอดแล้วก็ได้รับการถ่ายทอดแบบปากเปล่า ท่องจำได้แล้วจนคล่องแคล่วทุกอย่างจึงได้ทำพิธีการยกครูในภายหลัง วิชาที่สำคัญของสายนี้ก็คือการลงตระกรุด การลงน้ำมันนะปัทมึน การฝังตระกรุดทองคำ ทำพิรอดแขน เสกพระราหูแกะและลูกอม
            2.สายพระครูพินิจสมณวัตร (คง ชาลีวรรณ พระเกจิผู้มีความแก่กล้าในอาคมเป็นยิ่งนัก อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ค้นพบ รอยพระพุทธบาทที่วัดเขายายหอมในปัจจุบัน) ซึ่งท่านได้เรียนจากฆราวาสผู้ขมังเวทย์ที่ชื่อ ปู่ใจซึ่งอาจถือได้ว่า ปู่ใจผู้นี้เป็นศิษย์เอกของท่านพระครูพินิจ ก็คงไม่ผิด วิชาที่สำคัญของสายนี้ก็คือ การเข้าปรอท ลงตระกรุดกำบังกาย ทำน้ำมนต์อาบสะเดาะเคราะห์ และการปราบผี
            3.สายวิชาของหลวงปู่ผาง โดยเรียนจากตำราเก่าแก่ของพ่อลีฆราวาสผู้มีอาคมสูงอีกทั้งยังมีศักดิ์เป็นพ่อบุญธรรมของท่านด้วย ว่าด้วยวิชาจากตำรานี้ต้องร่ำเรียนกันอยู่ในถ้ำถึงจะสัมฤทธิ์ผล จึงได้ชื่อว่า สายวิชาในถ้ำ   โดยท่านเริ่มเรียนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เดือน กรกฏาคม 2538 จึงได้สำเร็จออกมาเข้าพรรษาพอดี วิชาที่สำคัญของสายนี้ก็คือ การลงน้ำมันพุทธปาฏิหาริย์ ตระกรุดโทนประตูโบสถ์พระพุทธเจ้า
           นอกนั้นก็เป็นอาจารย์อื่นๆอีกจิปาถะจากฆราวาสที่เก่งๆในแต่ล่ะแขนงแตกต่างกันออกไป
    วัตรปฏิบัติ
จากสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นจะเห็นได้ว่า หลวงพ่อจุ่นท่านเป็นผู้ที่คงแก่เรียนและชอบในการศึกษามากไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม ในปัจจุบันนี้ท่านได้อาศัยสิ่งเหล่านี้ที่ได้เรียนมาทั้งหมดสงเคราะห์ ญาติโยมไม่ว่าจะเป็นรดน้ำมนต์ ช่วยคนโดนกระทำ ลงตะกรุด เสกผ้ายันต์ เป่าแหวนพิรอด ตลอดจนปลุกราหู ยกครูสักน้ำมัน  ฝังตะกรุดทองคำ โดยพิจารณาตามสมควรแก่เหตุและผลของแต่ล่ะคนไป หลวงพ่อท่านเป็นพระธรรมดาที่เรียบง่าย ใจดี รักสันโดษ แต่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติและการสวดมนต์เป็นยิ่งนัก ลองมากราบท่านดู แล้วจะรู้ว่าพระดี ทีใกล้ตัวมีอยู่จริง ท่านจะได้รับความมีศิริโชคชัย และความสบายใจกลับบ้านกันทุกทุกคน
  ประวัติวัดโพธิ์ตาล
            ตามที่ได้มีการบันทึกไว้และจากปากคำของคนเฒ่าคนแก่ที่พอจะสืบค้นได้ ความเป็นดังนี้คือ วัดนี้เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2320 ตรงกับปลายสมัยกรุงธนบุรี ของพระเจ้าตากสินมหาราช  และในกาลต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปีพ.ศ. 2370 ซึ่งตรงกับในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 และจากหลักฐานที่มีปรางค์ปราสาทสมัยขอมซึ่งตั้งอยู่ห่างจากวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ 100 เมตรทำให้สันนิษฐานได้ว่าที่นี่คือชุมชุนดั้งเดิมในสมัยโบราณ
  ถาวรวัตถุที่สำคัญ
       1.ใบเสมาหินคู่ ซึ่งตามหลักฐานข้อมูล ในเรื่องของใบเสมาคู่ของกรมหลวงพระยาดำรงราชานุภาพได้กล่าวไว้ว่า อาจเป็นวัดหลวงมาก่อน หรือมีการประนีประนอมของ 2 นิกายของพุทธศาสนาให้กระทำการสังฆกรรมร่วมกันได้ ณ.ที่โบสถ์แห่งนี้ และพื้นโบสถ์ก่อนบูรณะเป็นหินศิลาแลง
       2. พระพุทธรูปหินแกะที่ระบุปีที่สร้างคือพ.ศ.2454 อายุ 105 ปี ซึ่งแกะโดย หลวงปู่นิล อดีตเจ้าอาวาส
     3.ใบกังหันไม้เก่าอายุ 100 กว่าปี ซึ่งหลวงปู่ขาว อดีตเจ้าอาวาสได้ทำขึ้นเพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและป้องกันลมพายุและฟ้าผ่า
       ลำดับเจ้าอาวาส
     1.หลวงปู่ขาว  ท่านเป็นพระผู้ที่มีวิชาอาคมขลังเป็นยิ่งนักและยังได้แสดงอภินิหารให้คนยุคนั้นได้เห็นอยู่เอย่างเนืองๆ ถือได้ว่าท่านเป็นพระปรามาจารย์ต้นสายวิชาของสำนักวัดโพธิ์ตาล มีชีวิตอยู่ในช่วงของยุคสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี
       2.หลวงปู่นิล (พระครูโพธิญาณคุณ) ท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2412-2504 ท่านเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่คง วัดถนนหักใหญ่ ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่คูณ วัดบ้านไร่ และได้ไปมาหาสู่กันเป็นประจำ ซึ่งท่านมีวิชาการทำพิรอดแขนที่เข้มขลัง และยังเป็นเจ้าของตำนานการสร้างพระราหูแกะของจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกันกับ พระราหูแกะอันโด่งดังของทางภาคเหนือคือ ครูบานันตา วัดทุ่งม่านใต้ จังหวัดลำปาง

3.หลวงปู่โต (พระครูโพธิวุฒิคุณ) ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี 2503-2542  และยังเป็นอดีตเจ้าคณะอำเภอบำเหน็จณรงค์อีกด้วย ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่นิล และได้เดินทางไปศึกษาเพิ่มเติมอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม (วัดสมเด็จโต พรหมรังสี) พร้อมๆกับหลวงปู่แย้ม วัดเพชรภูมิสุวรรณ (อุปัชฌาย์ ของหลวงพ่อจอย วัดโนนไทย) โดยไปศึกษาอยู่กับหลวงปู่นาค วัดระฆัง หลวงปู่โตท่านนี้ที่หลวงพ่อคูณนับถือเป็นศิษย์ผู้พี่ และเรียกท่านว่า หลวงพี่โตทุกครั้งที่กล่าวถึง เพราะหลวงปู่นิลกับหลวงปู่คงอาจารย์ของท่าน เป็นสหธรรมิกกันดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นนั่นเอง
       4. หลวงพ่อจุ่น จิตตสํวโร (พระครูโพธิกิตติวิมล) เจ้าคณะตำบลโพธิ์ตาล และเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ตาล จากปี2542 จนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น