พระกัมมัฏฐานแพง จันทสาโร
พระกัมมัฏฐานแพง จันทสาโร ศิษย์เอกสายหลวงปู่สมเด็จลุน
ท่านเป็นพระผู้มีศรัทธาแก่กล้าในพระพุทธศาสนามากท่านหนึ่ง
โดยเฉพาะในสายวิปัสสนากรรมฐาน บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๕ ปี ณ. วัดสิงหาญ
บ้านสะพือ ตำบลตระการพืชผล อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ขณะบวชเป็นสามเณร ได้ศึกษาวิชาสายวิปัสสนากรรมฐานกับอาจารย์พระครูสีดา(ญาท่านสีดา)
พออายุครบบวชได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และออกเดินธุดงค์ไปศึกษาวิปัสสนาเพิ่มเติมกับพระอาจารย์ศรีทัตถ์
(ญาท่านศรีทัตถ์) ที่เมืองท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครหลวงพระบาง ประเทศลาวนานถึง ๖ ปี
หลังจากได้ศึกษาตามสายวิชาเวทมนต์มาพอสมควรแล้ว
ท่านก็เริ่มออกเดินธุดงค์ไปตามขุนเขาน้อยใหญ่ ทั้งป่ารกดงทึบที่มากไปด้วยภัยอันตรายต่างๆนานาทั่วทั้งไทยและลาว
จากเหนือจรดใต้ ทั้งสิบสองปันนา สิบสองเจ้าไท ตลอดไปจนถึงเวียดนามและกัมพูชาหรือที่เรารู้จักและเรียกกันว่าเขมร
อาศัยอยู่ตามคูหาและหลีบถ้ำ ในป่าดงดิบ เช่น ถ้ำพระฤษีที่ประเทศลาว ออกจากเขมรกลับเข้าไทย
ออกจากไทยต่อเข้าประเทศพม่า การไปพม่าจะไปทางเมืองมะระแหม่ง
ธุดงค์ไปจนสุดแผ่นดินไม่สามารถจะไปต่อได้เพราะไม่มีแผ่นดินให้เดิน
เมื่อท่านธุดงค์ไปจนสุดขอบแผ่นดินที่เบื้องหน้าเป็นเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ของทะเล
เมื่อไปจนสุดแผ่นดินแล้วท่านจึงธุดงค์มุ่งหน้ากลับบ้านสะพือ
ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมื่ออายุได้ ๓๐ ปี(หลังบวชเป็นพระภิกษุได้ ๑๐ พรรษา)
ตลอดระยะเวลาที่ท่านออกธุดงค์กรรมฐานนั้น
พ่อแม่ญาติศรีพี่น้องทุกคนต่างก็นึกว่าท่านมรณภาพไปแล้ว
นั่นก็เพราะว่านับตั้งแต่ท่านออกจากบ้านไป
ก็ไม่เคยได้ส่งข่าวกลับมาบอกใครๆที่บ้านอีกเลยว่าท่านไปทำอะไรหรือไปอยู่ที่ไหน
หลังกลับมาเยี่ยมบ้านและเผยแพร่ธรรมะให้กับญาติๆได้ระยะหนึ่ง
ท่านก็เริ่มออกธุดงค์อีกครั้ง คราวนี้ไปลาวใต้ มุ่งหน้านครจำปาสัก ที่แขวงจำปาสักนี้
มีเหตุสำคัญทำให้ท่านมีอันต้องลาสิกขาจากร่มกาสาวพัตร์อยู่ที่บ้านเวินไชย
อำเภอเมืองเก่า แขวงจำปาสัก ประเทศลาว ไปมีครอบครัวอย่างสามัญอยู่นานถึง ๙ ปี
ช่วงเวลานี้ว่ากันว่าเป็นช่วงเวลาที่ท่านต้องการชำระกรรม
ล้างสัญญาเดิมที่เหลือหมดสิ้นไปจึงได้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เมื่อสิ้นสัญญาเดิมหมดกรรมเก่า
ท่านได้กลับมาอุปสมบทอีกเป็นครั้งที่
๒ ณ.บ้านเวินไชย อำเภอเมืองเก่า แขวงนครจำปาสัก ประเทศลาว
ได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานตลอดจนหลักธรรมต่างๆเพิ่มเติมที่นี่กับท่านสมเด็จลุน
ได้ถือโอกาสฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านสมเด็จลุน ซึ่งท่านสมเด็จลุนองค์นี้
เป็นที่เลื่องลือว่ามีกิตติคุณเป็นผู้มีธรรมวิเศษ หาพระที่จับยากองค์หนึ่งในยุคสมัยนั้น
ว่ากันว่าท่านสามารถบรรลุธรรมอันสูงสุดได้
ในขณะที่ยังครองสังขารอยู่ในช่วงวัยอันน่าฉงน และเป็นผู้แตกฉานในทุกด้านไม่ว่าจะด้านปริยัติหรือปฏิบัติ
ทั้งยังเป็นผู้เข้าใจในปาฏิโมกข์อย่างไร้ข้อกังขาอีกด้วย
กฤษดาภินิหาริย์ของท่านสมเด็จลุนขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ
และต่อมาท่านได้จากบ้านเวินไชย
มาจำพรรษาอยู่ที่บ้านด่าน อำเภอโขงเจียม จากบ้านด่าน มาจำพรรษาที่อยู่บ้านคำผ่าน
และวัดทุ่งศรีทวีผล บ้านสะพือ จึงได้มาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่ วัดสิงหาญ บ้านสะพือ ต่อมาลูกหลานทางเมืองอุบล
ซึ่งมีนายไพ เทพสิทธา น้องชาย พร้อมด้วยญาติและลูก ๆ หลาน ๆ เห็นว่าท่านชรามากแล้ว
จึงได้พร้อมใจกันสร้างกุฏิขึ้นหลังหนึ่งที่วัดปทุมมาลัย จังหวัดอุบลราชธานี
ถวายท่าน แล้วนิมนต์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมมาลัย แต่ปี พ.ศ.๒๕๐๕ - ๒๕๐๗
ท่านเห็นว่าท่านชรามากแล้ว
จึงขอกลับไปอยู่บ้านเกิด ขอตายอยู่กับครูอาจารย์ที่มาติภูมิ
ลูกหลานและศิษย์สานุศิษย์ของนิมนต์ไว้ ให้จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมต่อไป ท่านก็ไม่ยอม
จึงได้กลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสิงหาญ บ้านสะพือ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘
และได้ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๙ ตรงกับวันขึ้น ๑๒
ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเมีย เวลา ๐๑.๒๕ น. ด้วยอาการสงบ (
ซึ่งท่านบอกเวลาไว้ล่วงหน้าว่า ตีหนึ่งวันใหม่ท่านจะจากไป ) รวมอายุได้ ๘๒ ปีและท่านยังเป็นอาจารย์
ของ ญาท่านสวน วัดนาอุดม และ หลวงปู่อ่อง วัดสิงหาญ และพระเกจิอาจารย์อีกหลายท่าน
ตลอดระยะเวลาที่อยู่บำเพ็ญในบวรพุทธศาสนา
ท่านเป็นร่มโพธิ์ร่มทองของพุทธศาสนิกชนแผ่เมตตาให้แก่คนทั่วไป
ซึ่งท่านมีศิษย์สานุศิษย์มากมาย
ทั้งประเทศลาวและประเทศไทยชื่อเสียงและคุณงามความดีของท่านแผ่กระจายทั่วไป
ในนามกัมฐานแพง ศิษย์สมเด็จลุน ซึ่งใคร ๆ ย่อมทราบดี ก่อนจะมรณภาพ
ท่านได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ เป็นพระประธานในอุโบสถ พร้อมด้วยโต๊ะหมู่บูชา
ที่วัดบูรพาตำบลสะพือ อำเภอตระการพืชผล เพื่อเป็นสาธารณะกุศลด้วย
วัดสิงหาญ นี้ก่อตั้งราวปี พ.ศ.
๒๓๔๕ โดยญาท่านอุตตะมะ(อุต) เป็นผู้ก่อตั้งมีความเป็นมา คือญาท่านอุต
ได้ย้ายมาจากฝั่งขวาแม่น้ำมูลไม่ทราบว่าบ้านไหน ได้บวชเป็นพระมาบิณฑบาตที่บ้านสะพือ
ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ท่านให้จำพรรษาที่บ้านสะพือ ญาท่านอุต
บอกว่าถ้าจะให้จำพรรษาอยู่ที่นี่ก็จะต้องเอาพ่อแม่มาด้วย ชาวบ้านตกลงจึงได้อพยพครอบครัวมาตั่งถิ่นฐานอยู่บ้านสะพือ
โดยชาวบ้านจัดสรรที่ทำมาหากินให้มีไร่นาสวนพออยู่พอกิน
ส่วน ญาท่านอุต นั้นได้มาตั้งสำนัก
สงฆ์อยู่ที่ป่าทางทิศใต้ บ้านห่างจากหมู่บ้าน ประมาณ ๑ กิโลเมตร วัดศรีสุมัง
(โนนวัดทุกวันนี้ปัจจุบันกลายเป็น สระน้ำสาธารณะ)
ชาวบ้านเห็นว่าการนำภัตตาหารเช้าเพลลำบาก
เพราะไกลหมู่บ้านจึงได้ย้ายวัดใหม่มาตั้งที่ริมหมู่บ้านทางทิศใต้
ป่าตรงนี้เรียกว่า “ป่าหนองแก่นช้าง” ชาวบ้านได้ช่วยกันถากถาง
สร้างกุฏิขึ้นให้พระอาศัย ญาท่านอุต จึงมาจำพรรษาอยู่ที่นี่ราว พ.ศ. ๒๓๔๕
เรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดสิงหาญ ตราบเท่าทุกวันนี้ ท้าวลุน “เจ้าปู่สมเร็จลุน”
บิดาชื่อ พ่อเซียงหล้า มารดาชื่อ แม่คำบู่ “เจ้าปู่สำเร็จลุน”
เกิดปีฉลู พ.ศ. 2370 ณ บ้านหนองคำไฮ ต.เวินไซ
เมืองโพนทอง แขวงจำปาสัก ขณะนั้นแขวงจำปาสัก อยู่ในการปกครองของประเทศไทย เจ้า
ปู่สำเร็จลุน และญาท่านสีดา เป็นพระภิกษุรุ่นเดียวกันได้มาบวชอยู่ที่วัดเทพสิงหาญ
โดยการนำพาของญาท่านอุตตะมะ ซึ่งมีศักดิ์เป็น “อา”
หลวงปู่ลุน ท่านเป็นปรมจารย์ใหญ่
รุ่นแรก เป็นผู้มีฤทธิ์เดช วิชา มีตำราต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ยังเป็นสามเณรลุนและอุปสมบทเป็นพระ
ในขณะที่หลวงปู่ลุนจำพรรษาที่วัดนั้น ไม่สนใจงานทางวัดฉันข้าวเสร็จไม่ทำอะไร
เอาแต่อ่านตำรา นั่งภาวนาอย่างเดียว ญาท่านอุตตะมะ เมื่อเห็น อย่างนี้แล้ว
ท่านจึงบอก หลวงปู่ลุนว่า”ถ้าชอบภาวนาอย่างเดียว เจ้าก็ออกไปอยู่ป่าเสีย”หลวงปู่ลุนก็เลยออกไปอยู่ป่า ออกไปอยู่ในป่านานประมาณ 20-30 ปีจึงกลับมาวัดครั้งหนึ่ง
การปฎิบัติธรรมก็ดีขึ้นเรื่อยๆเป็นพระอาจารย์ที่มีคนบูชานับถือมากขึ้น ไปกราบไหว้
นมัสการขอให้ท่านพิจารณา จนชาวบ้านเรียกขานกันมาว่าสำเร็จลุน
ต่อมาจากนั้นเจ้าปู่สำเร็จลุน มาเป็นที่เลื่องลือว่าท่านเรืองฤทธิ์นั้นเพราะมี
ฝรั่งได้มาทดสอบท่านโดยทำบุญแล้วเอาสุราใส่ กาน้ำมาถวายให้ พระเณรฉัน
ฉันกันหมดแล้ว ฝรั่งเห็นก็ว่า พระทำไมดื่มสุรา ศาสนาพุทธพระทำไมดื่มสุรา “ฝรั่งหาเรื่องว่าสำเร็จลุน ท่านจึงกล่าว” “นี่แหละ....ความยากของคน
เขาเอามาให้กินก็กิน ให้กินอะไรก็กิน ให้ฉันอะไรก็ฉัน อย่าให้เขามาดูถูกได้”แล้วท่านก็หันไปพูดกับฝรั่งว่า “อ้า...เจ้าดูถูกศาสนาพุทธ
เจ้าเป็นคนไม่ดี”ว่าเพียงนั้น
ฝรั่งก็เลยหนีลงเรือกำปั่นเปิดเครื่องยนต์ เครื่องติด ปุด..ปุด..ปุด
แต่เรือไปไหนไม่ได้อยู่กับที่ อยู่กับที่ 3วัน เรือไม่แล่นไปไหน
ทั่งที่เครื่องยนต์ติดเดินเรือให้แล่นไม่ได้ ฝรั่งเลยกลับมาหา
สำเร็จลุนเอาน้ำมันก๊าดมาให้ 20 ปี๊บ
และเอาเทียนไขใส่ปี๊บมาให้อีก 20 ปี๊บ มาขอขมาลาโทษท่าน
ท่านพูดว่า “มึงไม่รู้จักกู”เท่านั้นท่านก็เอาเท้าแตะน้ำ
2 ครั้ง เรือกำปั่นก็สามารถแล่นได้
เจ้าปู่สมเด็จลุนมีอิทธิปาฏิหาริย์มากเหนือกว่าพระสงฆ์ใด
ๆ ในยุคนั้น เช่น ล่องหนหายตัวได้ เดินข้ามแม่น้ำโขง ย่นระยะทางได้ แบ่งกายได้
เก็บหนังสือเข้าผูกโดยไม่ต้องดู เสกตัวเองเป็นนกเสกคนอื่นเป็นกุ้ง
ฝ่าดงทากนับล้านตัวโดยไม่มีอันตราย แหวกลมแหวกฝนไม่เปียก สมเด็จลุนบิณฑบาตต่างประเทศและทั่วทุกแขวง
ของประเทศลาวเสมอ ๆ เจ้าปู่ สำเร็จลุน มรณภาพ อย่างสงบเมื่อวันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2454 ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
ปีกุน สิริอายุ 84 ปี 64 พรรษา
แห่ศพเจ้าปู่สมเด็จลุนจากวัดเวินไซไปยังที่ฌาปนกิจศพประมาณ
100 เมตร เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน สถานที่ฌาปนกิจปัจจุบันมีต้นโพธิ์ใหญ่ 5 ต้น ซึ่งเกิดขึ้นมาหลังฌาปนกิจได้ 7
วันซึ่งเกิดขึ้น อย่างน่าอัศจรรย์ ชาวบ้านเวินไซ จึงตั้งชื่อวัดอีกวัดหนึ่งว่า “วัดโพธิ์เวินไซ”