ประวัติพระญาณวิสาลเถร (หลวงปู่หา
สุภโร)
พระญาณวิสาลเถร (หลวงปู่หา สุภโร)เกิด 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 อายุ 93 อุปสมบทพ.ศ.
2489 มหานิกาย พรรษา 74วัด วัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) กาฬสินธุ์สังกัธรรมยุตนิกาย ญัตติ
พ.ศ. 2490วุฒิการศึกษา นธ.เอกตำแหน่งทางคณะสงฆ์ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์
พระญาณวิสาลเถร (หา สุภโร) หรือ
หลวงปู่ไดโนเสาร์ พระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเถรวาท คณะธรรมยุติกนิกาย
ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามตามสัญญาบัตรว่า
พระญาณวิสาลเถร เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว)
ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์
และอดีตรองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นพระเถราจารย์ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
เป็นที่น่าเคารพสักการบูชาของบรรดาศิษยานุศิษย์
ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า และได้ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์
ทำให้มีการขุดค้น โดยเป็นแหล่งไดโนเสาร์กินพืชที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย และยังมีการสร้างพิพิธภัณฑ์สิรินธร
บริเวณที่ขุดค้นพบอีกด้วย
ประวัติ
พระญาณวิสาลเถร (หลวงปู่หา สุภโร)
ท่านมีนามเดิมว่า หา ภูบุตตะ เกิดวันศุกร์ที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันขึ้น
๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีฉลู ที่บ้านนาเชือก ตำบลเว่อ (ปัจจุบันเป็นตำบลนาเชือก)
อำเภอยางตลาด (ปัจจุบันเป็นอำเภอเมือง) จังหวัดกาฬสินธุ์ บิดาชื่อ นายสอ ภูบุตตะ
มารดาชื่อ นางบัวลา ภูบุตตะ มีพี่น้องรวมกัน ๗ ท่าน
ท่านถือกำเนิดในตระกูลที่มีฐานะดีในหมู่บ้านนาเชือก
ซึ่งอพยพมาจากจังหวัดอุบลราชธานี มีฝูงวัวมากกว่า ๓๐ ตัว มีที่นากว่า ๖๐ ไร่
มารดาเลี้ยงหม่อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะมั่นคงที่สุดในแถบนั้น
เมื่อท่านเป็นฆราวาส ท่านมีความขยันหมั่นเพียร และความอุตสาหะ
ท่านช่วยโยมบิดามารดาทำงานทุกอย่าง ท่านได้สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔
ที่โรงเรียนวัดบ้านนาเชือกเหนือ ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
ท่านก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นทหารอาสาเพื่อไปร่วมรบในสงคราม
และท่านได้เข้ารับการฝึกซ้อมรบ ภายหลังก่อนที่ท่านจะไปในสงครามจริงๆ
สงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ได้ยุติลงก่อนในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ครั้งนึงท่านชอบการต่อยมวยมาก
ท่านชอบไปต่อยมวยตามงานวัดต่างๆ ในเวลาว่างจากการทำนาและงานอื่น
แต่โยมบิดาของท่านไม่ชอบที่ท่านเป็นนักมวยนัก พอช่วงอายุประมาณ ๒๐ ปี
คุณยายของท่านก็ได้ปรารภกับท่านว่าอยากจะให้ท่านบวชให้คุณยายของท่านหน่อย
อันเป็นที่มาของการออกบวชภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ในบวรพระพุทธศาสนา
ท่านอุปสมบท เมื่ออายุย่างเข้า ๒๑
ปี ที่สิมน้ำ ณ วัดสว่างนิวรณ์นาแก ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์
โดยมีหลวงปู่ลือ เป็นพระอุปัชฌาย์ สังกัดมหานิกาย
เมื่อท่านบวชแล้วก็มาอยู่ที่วัดสุวรรณชัยศรี ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด
จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะนั้นที่นั่นการปกครองในคณะสงฆ์ยังไม่ทั่วถึงมากนัก
การบวชของคณะธรรมยุตและคณะมหานิกายยังไม่มีการแยกจากกัน
ยังคงใช้พระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ทางคณะสงฆ์ได้ประกาศว่า
พระอุปัชฌาย์สังกัดนิกายอะไรผู้บวชก็ต้องสังกัดนิกายนั้น พระครูประสิทธิ์สมณญาณ
จนฺโทปโม เจ้าอาวาสวัดสุวรรณชัยศรี (ศิษย์อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
สมัยท่านจำพรรษาอยู่แถบจังหวัดเชียงใหม่)
ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านจึงได้ขึ้นไปอบรมการเป็นพระอุปัชฌาย์ของคณะธรรมยุต
ต่อมาเมื่อท่านอายุ ๒๒ ปี ท่านได้ญัติติเป็นธรรมยุต ที่สิมน้ำ ณ วัดบ้านหนองโจด
(ปัจจุบันเป็นที่นาชาวบ้าน) ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อ
วันที่ ๒๑ เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลา ๑๓.๐๐ น. โดยมีพระครูประสิทธิ์สมณญาณ
เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูปลัดอ่อน ขนฺติโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์
มีพระใบฎีกาทองสุข สุจิตฺโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีฉายา ว่า “สุภโร” แปลว่า “ผู้เลี้ยงง่าย”
เมื่อท่านยังเป็นพระนวกะ
(ผู้บวชใหม่) ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้จำพรรษาที่วัดสุวรรณชัยศรี จนสอบได้นักธรรมชั้นตรี
และ ในปีพ.ศ. ๒๔๙๕ สอบได้นักธรรมชั้นโทที่วัดขวัญเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
และในปีพ.ศ. ๒๔๙๗ ได้มีโอกาสศึกษาต่อที่วัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพมหานคร
จนสำเร็จนักธรรมชั้นเอก ท่านได้มีโอกาสอุปัฏฐากท่านเจ้าประคุณสมเด็จมหามุนีวงศ์
(สนั่น จนฺทปชฺโชโต) และด้วยความที่ท่านมีนิสัยใฝ่เรียนรู้
ท่านจะเรียนบาลีเป็นประจำทุกวัน เมื่อเว้นว่างจากการเรียนบาลีแล้ว
ท่านก็จะเดินทางด้วยเท้าเปล่าเพื่อไปเรียนกรรมฐานจากพระธรรมมงคลญาณ (วิริยังค์
สิรินธโร) วัดธรรมมงคล และพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมฺมธโร)
ที่วัดบรมนิวาส
เมื่อเรียนไปได้สักระยะหนึ่ง
ท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคดีซ่าน การเรียนทั้งปริยัติและปฏิบัติจึงได้ระงับไว้ก่อน
เมื่ออาการหนักมากจนถึงขั้นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงฆ์ถึง ๓ เดือน
โดยไม่มีท่าทีว่าจะหาย หรือดีขึ้นเลย ท่านจึงทอดอาลัยในชีวิต
แล้วตั้งความปรารถนาขอใช้ชีวิตที่เหลือในการรับใช้พระศาสนาให้สมกับที่เป็นผู้อุทิศตนต่อชาวโลก
โดยท่านได้ตั้งสัตยาธิษฐาน ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้วมรกต) ว่า “หากข้าพเจ้าจะมีชีวิตในการบวช
ขอให้โรคหาย ถ้าหากจะไม่มีชีวิตแล้ว ขอให้ตายกับผ้าเหลือง” ท่านมีความคิดว่าหากได้บวชอยู่นานๆ
จะได้ทำประโยชน์ในพระศาสนาให้สมกับที่เป็นผู้อุทิศตนต่อชาวโลก
จากนั้นท่านจึงเดินทางกลับมาที่บ้านเกิดเพื่อตั้งต้นดำเนินภารกิจดังที่ตั้งปณิธานไว้
และได้ตั้งสัตยาธิษฐานอีกครั้งหนึ่งว่า “ขอให้ได้อยู่ป่าทำความสงบสบายทางจิต”
ด้วยอานิสงส์แห่งการอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา
ในขณะนั้นท่านก็ได้รับการรักษาจากหมอพื้นบ้าน
และการอบรมทางใจจากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานเข้าช่วยเหลือ
จึงเป็นผลให้อาการของโรคทุเลาลงจนหายขาดในที่สุด
เมื่อหายเป็นปกติแล้วท่านจึงออกเที่ยวปฏิบัติรุกขมูล หาความวิเวกทางกายและใจออกธุดงค์ไปยังภาคต่างๆ
ในประเทศไทยแทบทุกจังหวัด ไปทุกมุมเมืองในภาคอีสาน และข้ามไปยังฝั่งลาว
ไปถึงนครเวียงจันทน์ถึงสองครั้ง เข้ากัมพูชา จนเห็นผลทางจิตอันแน่นอนแล้ว
ท่านจึงกลับมาช่วยงานพระศาสนาดังปฐมปณิธาน
การค้นพบกระดูกไดโนเสาร์
ในขณะที่ท่านกำลังดำเนินการก่อสร้างวัดสั่งสอนผู้คนพุทธศาสนิกชน
สอนปริยัติธรรมแก่พระภิกษุ-สามเณรบริหารการปกครองคณะสงฆ์อยู่นั้นท่านก็ไม่ทิ้งการปฏิบัติในทางการอบรมจิตทำสมาธิภาวนา
เมื่อมีเวลาว่างท่านจะขึ้นบนยอดภูกุ้มข้าวกางกลดนั่งสมาธิครั้งละ ๑๕ วัน
โดยไม่ฉันอาหารไม่เข้าห้องน้ำ อบรมจิตใจตนเองอย่างนี้โดยวิธีนี้เรียกว่าการเข้า “ปฏิสลี” มีเพียงบางวันที่สามเณรจะเอายาต้มไปส่งแต่ถ้าเห็นหลวงปู่ไม่เปิดกลดก็จะกลับลงมาโดยไม่ได้ถวายยาต้มนั้นในบางปีท่านฉันภัตตาหารเพียงวันเข้าพรรษาและวันออกพรรษาเท่านั้น
ประมาณปี ๒๕๓๔ ท่านได้พบนิมิตโอภาส คือพบแสงสว่างที่ใสมากเป็นแสงที่ท่านไม่เคยพบในโลกนี้สว่างไปทั่วโลกธาตุ
สว่างทั้งจักรวาล มองทะลุภูเขา
มองทะลุต้นไม้มองเห็นทุกอย่างอยากเห็นสิ่งใดก็เห็นไปหมด แล้วก็ปรากฏสัตว์ชนิดหนึ่ง
คอยาว ตัวใหญ่กว่าช้างเท้าใหญ่เท่ากระบุง เดินไปเดินมาในบริเวณภูกุ้มข้าว
กินยอดไม้ เล่นน้ำ
และล้มลงตายขณะที่เห็นมีลักษณะเป็นเหมือนฟีมล์หนังกลางแปลงในสมัยก่อนพอสัตว์นั้นตายลงก็หมดม้วนพอดี
เป็นอย่างนี้อยู่ ๒-๓ ครั้ง ในปี ๒๕๓๖ และปี๒๕๓๗ก็มีลักษณะเดียวกัน ครั้งสุดท้าย
พอเห็นจบแล้วก็มีเสียงมาบอกว่า จะมาขออยู่ด้วยเตรียมตัวไว้พรุ่งนี้จะมีฝนมาจากทิศอุดรห่าใหญ่ผมจะมากับฝน
ครั้งล่าสุดท่านเข้าปฏิสลีได้เพียง ๓ วันเท่านั้น
ท่านจึงเก็บบาตรและกลดลงจากยอดเขาสั่งให้พระเณรเก็บสิ่งของไปไว้บนกุฏิเวลาประมาณเที่ยงวันฝนก็เริ่มตั้งเคาและตกลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตาหลวงปู่ท่านได้กางร่มเดินออกมาตรวจบริเวณวัดขณะฝนตก
ร่มที่กางโดนลมพัดจนหักและปลิวไปกับลมเหลือเพียงด้ามร่มเท่านั้น
บริเวณทั้งหมดมืดไปหมดมองสิ่งใดไม่เห็นท่านจึงนั่งลงตรงที่เห็นสัตว์นั้นตายในนิมิต
ฝนตกกว่า ๓ ชั่วโมงจึงเริ่มซาและหายไปในที่สุด
จากฟ้าที่มืดก็ปรากฏแสงสว่างขึ้นมาแผ่นดินที่เคยสูงโดนน้ำเซาะจนเห็นเป็นกระดูกชิ้นใหญ่
หลายสิบชิ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณที่ท่านนั่ง
ท่านก็สั่งให้คนเก็บกระดูกนั้นไว้และส่งข่าวไปยังนายอำเภอเพื่อมาตรวจสอบ
ทางอำเภอจึงส่งข่าวไปยังศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
เจ้าหน้าที่ก็ได้มาตรวจสอบปรากฏว่าเป็นไดโนเสาร์พันธ์กินพืชที่ใหญ่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมา
(ภายหลังให้ชื่อว่า อีสานโนซอรัสสิรินธรเน่)
ต่อมามีการแจ้งว่าจะมีการจะขอทำการขุดค้นเพิ่มเติมจึงกราบเรียนถามองค์หลวงปู่เพื่อชี้จุดที่เห็นในนิมิตเพิ่มเติมท่านจึงได้ชี้ใต้ต้นไม้ทางทิศเหนือของวัดก็พบฟอสซิลไดโนเสาร์อีกหลายตัว(ปัจจุบันคือ
“อาคารหลุมขุดค้นไดโนเสาร์พระญาณวิสาลเถร” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ค้นพบครั้งแรก)อีกทั้งยังมีการรวบรวมฟอสซิลไดโนเสาร์จากทั่วสาระทิศมารวมที่วัดสักกะวันและก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับสัตว์โลกล้านปีได้รับพระราชทานนามว่า“พิพิธภัณฑ์สิรินธร” คณะศิษย์ยานุศิษย์ ลูกหลาน
จึงถวายฉายานามหลวงปู่ว่า“หลวงปู่ไดโนเสาร์” (แต่เดิมท่านชื่อพระหา
ภายหลังได้รับถวายตำแหน่งพระฐานานุกรมในตำแหน่งพระสมุห์ชาวบ้านจึงให้ชื่อว่าพระอาจารย์สมุห์หาภายหลังเมื่อมีการถวายสัญญาบัตรพัดยศเป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูวิจิตรสหัสคุณชาวบ้านก็เรียกหลวงตาวิจิตร
เมื่อท่านค้นพบไดโนเสาร์ชาวบ้านจึงนิยมเรียกท่านว่าหลวงตาวัดไดโนเสาร์
เมื่อเรียกบ่อยๆจึงเหลือแต่หลวงตากับไดโนเสาร์
แต่คณะศิษย์ในภายหลังไม่อาจเรียกท่านว่าหลวงตาได้(เพราะคำว่าหลวงตาคือคนที่มีครอบครัวแล้วมาอุปสมบท)จึงเรียกท่านว่าหลวงปู่ไดโนเสาร์จวบจนปัจจุบัน)
สมณศักดิ์
ได้รับการแต่งตั้งพระฐานานุกรมในพระสุธรรมคณาจารย์ที่
พระสมุห์หา สุภโร
พ.ศ. ๒๕๐๕
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นตรี ที่ พระครูวิจิตรสหัสคุณ
พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร
ชั้นโท ที่ พระครูวิจิตรสหัสคุณ
พ.ศ. ๒๕๒๐
ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นเอก ที่
พระครูวิจิตรสหัสคุณ
พ.ศ. ๒๕๔๑
ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่
พระญาณวิสาลเถร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น